พาไปวัด
วัดกวิศรารามราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี อันดับ ๑ ชนิดราชวรวิหาร คำว่า "วัดกวิศราราม" แปลว่า วัดของพระเจ้าแผ่นดิน เป็นวัดเก่าแก่ซึ่งมีความสำคัญมาก แต่เดิมนั้นชื่อ "วัดขวิด" สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงสร้าง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรง สถาปนาใหม่ พระราชทานนามว่า วัดกรวิศยาราม และรัชกาลที่ ๕ ทรงปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมอีก
ประวัติเดิมมีความเป็นมา ว่าปลายรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นั้นเกิดความวุ่นวายเกี่ยวกับการเมือง ขณะที่พระนารายณ์ทรงพระประชวรหนัก บรรดาข้าราชบริพารผู้จงรักภักดี ขออุปสมบทอุทิศถวายในพระองค์ท่าน สมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงอนุญาตพระราชทานผ้าไตรจีวรอัฏฐบริขาร พร้อมและได้อุปสมบทแก่ข้าราชบริพารนั้นในพระราชวัง ได้ทรงถวายพระราชฐานพระองค์หนึ่งให้เป็นเขตวิสุงคามสีมาเพื่อทำการอุปสมบท หลังจากการบวชข้าราชบริพารแล้วก็ไม่ได้มีการไถ่ถอนเขตวิสุงคามสีมา เลยกลายเป็นว่ามีวัดอยู่ในวัง และได้ล่วงเลยมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำริว่าวัดจะอยู่ในพระราชฐานนั้นมิสมควร จึงทรงไถ่ถอนเขตวิสุงคามสีมาออกจาพระราชวัง และทรงเห็นว่าวัดขวิดอยู่ใกล้กับพระราชวัง จึงทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นแทน
วัดนี้มีสิ่งที่น่าสนใจคือ พระอุโบสถมีรูปทรงงดงาม เป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา เครื่องบนเป็นหลังคาหน้าจั่ว มีปีกนกโดยรอบสองชั้น มีมุขประเจิดทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่หาดูได้ยาก
ภายในพระอุโบสถตกแต่ง โดยเขียนลายประดับเต็มทั่วทั้งที่ผนังและเสาทุกต้น สำหรับพระประธานนั้น นักโบราณคดีตรวจสอบแล้ว ให้ข้อสังเกตว่าพระประธาน ซึ่งเป็นพระขนาดใหญ่ ประดิษฐานในพระอุโบสถมาแต่ต้นนั้น ไม่นับถึงลักษณะ พระพุทธรูป ซึ่งอาจอัญเชิญพระเก่ามาเป็นประธาน แต่ลักษณะของฐานชุกชี และ การประดิษฐานพระนั้น เป็นแบบที่อยู่ในความนิยมเมื่อครั้งก่อนสมัย สมเด็จพระ นารายณ์มหาราชมาก บางทีอาจเป็นวัดเก่าแก่ที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรง ปฏิสังขรณ์ขึ้นก็เป็นได้ แต่กรณีเช่นนี้ไม่มีหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใดเพิ่มเติม เพียง แต่รับทราบกันไว้ หรือเก็บไว้เป็นข้อคิด หากจะมีการค้นคว้าต่อไป ก็น่าจะเป็น ประโยชน์ได้บ้าง ส่วน
บานประตูซึ่งสลักไม้เป็นรูปพระนารายณ์ทรงสิงห์บานหนึ่ง และทรงครุฑบานหนึ่งนั้น สันนิษฐานว่าคงจะเป็นเครื่องหมายบอกให้ทราบว่า วัดนี้เป็นวัดที่สมเด็จพระนารายณ์ ฯ ทรงสร้าง และคงจะทำขึ้นในคราวปฏิสังขรณ์นี้เอง แต่ฝีมือช่างตลอดจนลักษณะ และลวดลายนั้น ผิดแผกจากศิลปกรรมในรุ่นเดียวกัน อาจจะเป็นฝีมือช่างชาวลพบุรีนั่นเอง
พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะอู่ทอง จิตรกรรมฝาผนังเป็นลายรูปดอกไม้ที่มีความงดงามยิ่งนัก (ข้อมูลจากเว็บไซต์ : Winitsuksa School Lopburi)
ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชพระอุโบสถของวัดแห่งนี้ใช้เป็นที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการ ปัจจุบันวัดกวิศรารามจัดเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี มีห้องสมุดพุทธวรญาณและพิพิธภัณฑ์พระพุทธวรญาณ ให้ประชาชนชมและศึกษาค้นคว้าได้