พาไปวัด
เพชรบุรี เป็นเมืองเก่าแก่โบราณมาตั้งแต่อดีตกาลหลายยุคหลายสมัย ในสมัยอยุธยานั้น เพชรบุรีเป็นเมืองท่าที่สำคัญเมืองหนึ่ง มีการส่งสำเภาไปค้าขายกับประเทศอื่นๆด้วย ซึ่งสมัยอุธยานั้นด้วยความที่เมืองเพชรบุรีติดทะเล และยังมีแม่น้ำไหลผ่าน ทำให้ชาวต่างชาติหลายเชื้อชาติ เข้ามาทำการติดต่อค้าขาย กับเมืองเพชรบุรีแห่งนี้เป็นจำนวนมาก ทำให้ได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า พริบพรี (Pipli) จากคำเรียกของชาวต่างชาติ
วัดเกาะแก้วสุทธาราม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "วัดเกาะ" นั้นเป็นวัดยังคงมีศิลปกรรมสมัยอยุธยาหลงเหลือให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน แม้กาลเวลาจะผ่านมาหลายร้อยปีแล้วก็ตาม สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเนื่องจากภาพจิตรกรรมในอุโบสถระบุปีที่เขียนไว้ คือ พ.ศ. ๒๒๗๗ ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (พ.ศ.๒๒๗๕ -๒๓๐๑)
สิ่งที่เป็น Unseen ของวัดก็คือภาพจิตรกรรมฝาผนัง ณ อุโบสถของวัด เป็นจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาว ระบายสีลงบนพื้นปูนที่แห้งสนิทแล้ว เราจะสังเกตุได้ว่าสีสันของภาพจิตรกรรมฝาผนังของที่นี่ จะออกเน้นโทนสีแดง วาดลงบนพื้นสีขาว มีสีเขียวแต่งแต้มตามรูปภาพจุดต่างๆ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจิตรกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย และมีสิ่งที่น่าแปลกใจอีกอย่างก็คือ มีการใช้สีดำแรเงาตามจุดต่างๆให้มีมิติ มีการวาดรูปที่เป็น Perspective ในบางรูป ที่ไม่ได้เห็นบ่อยนักในสมัยก่อน
จิตกรรมบริเวณด้านหน้าอุโบสถ (ฝั่งตรงข้ามพระประธาน) เป็นภาพจักรวาลมีรูปเขาพระสุเมรุ แวดล้อมไปด้วยเขาสัตตบริภัณฑ์ (ได้แก่ ยุคนธร อิสินธร กรวิก สุทัศนะ เนมิทร วินันตกะ อัสสกัณณะ ระหว่างเขาแต่ละชั้นมีแม่น้ำสีทันดรคั่น) มีวิมานอยู่บนเขาทั้ง ๗ ยอด เขาพระสุเมรุมีวิมานของพระอินทร์ เรียกว่า สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในภาพพระพุทธเจ้ากำลังประทับโปรดพระอินทร์ และพระพรหม ด้านขวามือเป็นพระเจดีย์จุฬามณี มีรูปพระอาทิตย์และ พระจันทร์ และพระราหูตามคติโบราณปรากฎอยู่ในภาพด้วย
ส่วนผนังด้านหลังเป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ มีรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม ซึ่งมีผู้ให้ข้อสังเกตุว่า เมืองเพชรบุรีในสมัยอยุธยานั้นเป็นเมืองท่ามีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายกันมาก ซึ่งก็รวมไปถึงการนำศาสนาอื่นที่ไม่ใช่พระพุทธศาสนาเข้ามาเผยแพร่ที่นี่ด้วย ทำให้ศิลปินได้วาดภาพชาวต่างชาติสอดแทรกในรูปเหล่ามารผจญ เป็นรูปเดียรถีย์นอกศาสนาด้วย
บริเวณผนังด้านทิศใต้เป็นภาพพุทธประวัติตอนสำคัญที่เกิดขึ้น ณ สถานที่สำคัญ ๘ แห่ง เรียกว่า “อัฏฐมหาสถาน” แทรกอยู่ระหว่างภาพเจดีย์ใต้ภาพฉัตร
ผนังด้านทิศเหนือ เป็นภาพสัตตมหาสถาน หรือสถานที่สำคัญที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับหลังตรัสรู้แล้ว ๗ แห่ง แทรกอยู่ระหว่างภาพเจดีย์ใต้ภาพฉัตรเช่นเดียวกัน เหนือขึ้นไปเป็นภาพนักสิทธิ์วิทยาธร และคนธรรพ์ ที่มีลักษณะเป็นตัวแทนของชนชาติต่างๆ ในมือถือถาดขนมหวานที่หลากหลาย ถ้ามองดีๆก็จะสามารถนึกไปได้ว่าแต่ละถาดนั้นเป็นขนมอะไร เช่น ขนม madeleine (ขนมอบก้นหอยแบบฝรั่งเศส) เทวดา หรือคนธรรพ์ก็เป็นใบหน้าของชาวฝรั่งเศส และยังมีการสอดแทรกวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเมืองเพชรบุรีในสมัยนั้น ทั้งการแต่งกาย การละเล่น รวมไปถึงยังมีภาพชาวต่างชาติ ชนชาติต่างๆที่เข้ามาทำการค้าขาย และเผยแพร่ศาสนาในเมืองเพชรบุรี ซึ่งเป็นที่น่าสนใจเวลาได้มาชมและพิจรณาภาพวาดอย่างละเอียดถี่ถ้วนในทุกๆจุด
จิตกรรมฝาผนังที่วัดเกาะแก้วสุทธารามนั้นเป็นจิตกรรมชิ้นเอกระดับ Masterpiece ของประเทศไทยเราเลยก็ว่า ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายร้อยเป็น แต่ยังคงความสมบูรณ์ให้เราเห็นอยู่ในปัจจุบันนี้
การเข้าชมภาพจิตกรรมนั้น ทุกท่านห้ามสัมผัส จับ แตะต้องภาพจิตกรรมโดยเด็ดขาด เพราะผ่านมาหลายร้อยปีย่อมจะต้องชำรุดไปเรื่อยๆ เราต้องช่วยกันดูแลรักษาให้คงสภาพให้ดีที่สุดต่อไป และการเข้ามาในวัดก็จะต้องสำรวม ไม่ส่งเสียงดัง และสวมใส่เสื้อผ้าสุภาพไม่โป้เปลือย อย่าลืมนะครับที่นี่คือ "วัด" ครับ
ปล. อย่ามาผิดวัดนะครับ ชื่อวัดเกาะแก้วสุทธาราม มี ๒ ที่ คือที่ อ.เมือง และ อ.บ้านลาด ผมไปผิดมาแล้ว ฉะนั้นดูอำเภอดีๆครับ
(กราบขอบพระคุณ อาจารย์กิตติพงษ์ พึ่งแตง เป็นอย่างสูงที่สุดที่มีเมตตาต่อเพจพาไปวัด ช่วยเปิดอุโบสถ และบรรยายเรื่องราวทุกอย่างโดยละเอียดให้กับเพจเราครับ กราบขอบพระคุณอาจารย์มากๆครับ)
(บันทึกภาพ ณ วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๓)